Thursday, May 20, 2010

Employee Engagement (1)

บริษัทเติบโตได้
ด้วยความผูกพันของพนักงาน
     ดร.เกศรา รักชาติ ได้ให้คำจำกัดความของ Employee Engagement ไว้ว่า หมายถึง พนักงานที่มีความตั้งใจทุ่มเทพลังกาย พลังใจให้กับการทำงานที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ พนักงานจะรู้สึกตื่นเต้นรู้สึกถึงความท้าทายกับงานที่ทำในแต่ละวัน พนักงานจะพัฒนาตัวเอง ดึงเอาความสามารถ หา “พรแสวง” พร้อมนำเอาพรสวรรค์ในตัวเองมาใช้ในการทำงานที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเรียนรู้ หาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายอยู่เสมอ
     และคุณณรงค์วิทย์ แสนทอง ได้ให้คำจำกัดความของ Employee Engagement ไว้ว่า หมายถึง ความผูกพันทางใจเป็นความรู้สึกที่พนักงานมีให้กับองค์กรและงานที่ทำอยู่ ซึ่งความผูกพันนี้จะมีผลต่ออัตราการลาออก การมาปฏิบัติงาน หรืออัตราการขาด ลา มาสาย ของพนักงาน โดยพนักงานที่มีความผูกพันต่อองค์กรสูงมักจะเป็นพนักงานที่มีอัตราการขาด ลา มาสายต่ำ (มักจะได้เบี้ยขยันทุกเดือน) เราลองมาพิจารณาดูสิครับว่า การที่คนเราจะทำงานในที่แห่งหนึ่งได้นานๆ และไม่คิดที่จะลาออกไปหางานใหม่ มีปัจจัยอะไรบ้าง
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความผูกพัน (Employee Engagement) มีดังนี้
  1. คุณสมบัติทางชีวภาพ ได้แก่ อายุตัว อายุงาน การศึกษา ตำแหน่งงาน เป็นต้น
  2. การตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล ได้แก่ ความรู้สึกว่าได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม ความรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน ความต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัว
  3. โอกาสความก้าวหน้าในสายอาชีพ ได้แก่ มีนโยบายวางแผนการเติบโตในสายอาชีพให้กับพนักงาน การได้รับโอกาสในการเติบโตในอาชีพในสายงานของตน การได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำงาน
  4. การมีส่วนร่วมในงาน ได้แก่ การได้รับการสนับสนุนในการทำงาน หรือการดูแลเอาใจใส่จากหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน การให้โอกาสในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใน เป็นต้น
  5. ลักษณะของงาน ได้แก่ ลักษณะการบริหารงานโดยภาพรวมของบริษัท วิธีการบังคับบัญชา การที่ทำงานได้เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ และความชำนาญ สภาพแวดล้อมในการทำงานเหมาะสมตามหลักอาชีวอนามัย และความ่ปลอดภัยในการทำงาน
     จะเห็นได้ว่าการที่จะสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นกับหน่วยงาน จะต้องอาศัยความสัมพันธ์ของปัจจัยทั้ง 3 ส่วน คือ ตัวพนักงาน หัวหน้างาน และองค์การหรือบริษัท และถ้าเกิดความผูกพันเกิดขึ้นก็จะเกิดผลประโยชน์แก่ปัจจัยทั้ง 3 ดังนี้
ประโยชน์ที่พนักงานได้รับ
  • ทำงานอย่างมมีความสุขกาย สบายใจ
  • มีโอกาสเติบโตในสายอาชีพ
  • มีความชำนาญสูง โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการทำงานมีน้อย
  • สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
  • ทำงานด้วยความสนุกสนาน
ประโยชน์ที่หัวหน้างานได้รับ
  • ทำงานอย่างมีความสุขกาย สบายใจ
  • ปัญหาในการทำงานมีปริมาณน้อย เพราะพนักงานมีความชำนาญในการทำงานสูง โอกาสผิดพลาดมีน้อย
  • ปกครองง่าย เพราะลูกน้องเชื่อฟัง
  • เกิดความรัก ความสามัคคี และการทำงานเป็นทีม
  • การดำเนินงานหรือกิจกรรมต่างๆ เป็นไปได้โดยง่าย เพราะพนักงานให้ความร่วมมือ
ประโยชน์ที่องค์การหรือบริษัทได้รับ
  • การเจริญเติบโต เพราะต้นทุนการผลิตต่ำ เนื่องจากไม่เกิดของเสียหรือความผิดพลาดในการทำงาน
  • สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะงานมีคุณภาพ ส่งงานได้รวดเร็ว ทันเวลา ความผิดพลาดต่ำ
    สรุปได้ว่า ความผูกพันของพนักงานต่อองค์การ ส่งผลทำให้องค์การหรือหน่วยงานมีการเจริญเติบโต ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารทุกระดับต้องให้ความสำคัญและเร่งเสริมสร้างให้เกิดความผูกพันในองค์การหรือหน่วยงานของท่าน

บทความดีๆ จาก Business Law & Human Resource : HR Management : ณรงค์วิทย์ แสนทอง

No comments:

Post a Comment